การวางแผนการดูแลล่วงหน้า
ผู้ป่วยแต่ละคนมีเป้าหมายของการดูแลในระยะสุดท้ายที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะเลือกความสุขสบาย ไม่เจ็บปวด หรือสู้เต็มที่เพื่อรักษาชีวิตหรือยืดเวลาให้นานที่สุด บางคนก็เลือกระหว่างกลาง แต่ภาระจากการรักษา การรักษาย่อมต้องแลกกับความไม่สุขสบายที่จะเกิดขึ้น
ผู้ป่วยยอมแลกความไม่สุขสบายกับการรักษาหรือไม่?
การวางแผนดูแลล่วงหน้าในผู้ป่วยระยะสุดท้าย
เมื่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายเข้าสู่สภาวะที่โรคลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง การสื่อสารก็จะถูกจำกัดลงเรื่อยๆจากตัวโรคที่ทำความเสียหายให้แก่ร่างกาย เช่น ทำให้สติการรับรู้ลดลง หรือทำให้สมองทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองแก่ผู้ดูแลหรือทีมแพทย์พยาบาลที่ทำการรักษาได้ การวางแผนการดูแลล่วงหน้า(Advance Care Planning) เป็นกระบวนการสนทนาเพื่อวางแผนการดูแลรักษาล่วงหน้าสำหรับอนาคต เมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองได้นั่นเอง
ในการพูดคุยอย่างเปิดเผยระหว่างการวางแผนการดูแลล่วงหน้า ช่วยให้เกิดความไว้วางใจระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้เกิดการร่วมมือทำงานกันเป็นทีมโดยมุ่งผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พิจารณาสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นว่ามีคุณค่าในชีวิตและวางเป้าหมายการรักษาเพื่อตอบสนองเป้าหมายนั้น แพทย์และผู้ตัดสินใจแทนก็จะได้รับทราบความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลและความกลัวของผู้ป่วยและทีมที่รักษา ลดความสับสน/ความขัดแย้งที่อาจเกิดในอนาคตลง และยังลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น
"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติความทรมานจากความเจ็บป่วยได้"
พระราชบัญญัติสุขภาพ มาตรา 12
พินัยกรรมชีวิต
ผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต สามารถทำเอกสารหรือหนังสือแสดงความประสงค์ที่จะไม่รับบริการทางการแพทย์ เช่น การสอดใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือการใช้ไฟฟ้ากระตุกหัวใจ ฯลฯ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นไปเพื่อยืดความเจ็บป่วยทรมานโดยไม่จำเป็น แต่ผู้ป่วยจะยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์พยาบาลตามความเหมาะสม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและอาการไม่สุขสบายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้
เอกสารแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข มีหลายชื่อเรียก เช่น พินัยกรรมชีวิต, Living Will ฯลฯ ในทางการแพทย์จะเรียกว่า Advance Directive ซึ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องมีนักกฎหมาย ภายในเอกสารจะประกอบด้วย คำสั่งการปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อวางเป้าหมายการรักษา มีการการแต่งตั้งหรือระบุผู้มีอำนาจในการตัดสินใจแทนผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพได้เอง โดยเนื้อหาของเอกสารสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาหากมีปัจจัยในการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วย
หากรู้ว่าในที่สุดแล้ว การรักษาที่ได้รับไม่ได้ทำให้โรคร้ายหายไป และยังเพิ่มความทุกข์ทรมานจากวิธีการรักษาและเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ รวมถึงยังเป็นการยื้อความเจ็บป่วยนั้นให้ยาวนานออกไปอีก เราจะยังต้องการการดูแลรักษาแบบนั้นอยู่หรือไม่?
ใคร และเมื่อไหร่?
ผู้ที่ควรริเริ่มวางแผนการดูแลล่วงหน้าได้แก่
-
ผู้ที่เสี่ยงกับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
-
ผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคสมองเสื่อม
-
ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงกับอุบัติเหตุทางสมอง
-
ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง และเป็นซ้ำ
-
ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากโรคต่างๆ
ควรเริ่มทำแต่เนิ่นๆ เมื่อตอนที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะ สามารถตัดสินใจเองได้ และคาดว่าอาจจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 1 ปี เมื่อเวลาผ่านไปควรมีการกลับมาทบทวนแผนการดูแลและเอกสารที่เคยบันทึกได้เป็นระยะๆ เนื่องจากการตัดสินใจและเป้าหมายการดูแลของผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ความตายคือธรรมชาติของชีวิต ไม่ใช่เรื่องอัปมงคล
ทุกชีวิตที่เกิดมาต้องพบจุดจบด้วยความตาย การหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงความตายเลยคือความประมาท เป็นการละเลยมิติที่สำคัญที่สุดด้านหนึ่งของการมีชีวิต เป็นความจริงที่ทุกคนไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่ทุกคนก็สามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดตนเองจะได้รับก่อนที่จากโลกนี้ไปได้ด้วยการวางแผนการดูแลล่วงหน้า
เริ่มต้นอย่างไร
สมุดเบาใจ
ผู้ป่วยและครอบครัว สามารถศึกษาวิธีการวางแผนการดูแลล่วงหน้าเบื้องต้นได้ด้วยตนเองด้วยการใช้สมุดเบาใจ ซึ่งเป็นแบบฟอร์มวางแผนดูแลล่วงหน้า ออกแบบโดยกลุ่ม Peaceful Death สนับสนุนการจัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับการผลิตและแจกจ่ายแล้วกว่า 120,000 เล่ม
สามารถใช้งานสมุดเบาใจออนไลน์หรือดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรี ที่นี่
ศึกษาเพิ่มเติม
ชีวามิตร ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิต ระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข ชีวามิตร Cheevamitr Social Enterprise
ThaiLivingWill.in.th สื่อกลางเผยแพร่แนวคิดการตายอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการรักษาพยาบาลที่เคารพในเจตจำนง คุณค่า และศรัทธาของผู้ป่วย ThaiLivingWills
ขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลล่วงหน้า ได้ที่ศูนย์ดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาลที่คุณใช้บริการอยู่
ศูนย์ดูแลแบบประคับประคอง
โรงพยาบาลสกลนคร
📍ชั้น 1 อาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลสกลนคร
1041 ถ.เจริญเมือง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร
จ.สกลนคร 47000
📞042-176000 ต่อ 3915